วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความหมายของปรัชญาคิดเป็น

ความหมายของคิดเป็น
คิดเป็น มีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนต้องการความสุข แต่ความสุขของแต่ละคนแตกต่างกันเนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ เช่น เพศ วัย สภาพสังคมสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ซึ่งทำให้ความต้องการและความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  การ คิดเป็นเป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหา คือ มีจุดเริ่มต้นที่ปัญหาแล้วพิจารณาย้อนไตร่ตรองถึงข้อมูล 3 ประเภท คือ ข้อมูลด้านตนเอง ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ ต่อจากนั้นก็ลงมือกระทำ ถ้าหากสามารถทำให้ปัญหาหายไป กระบวนการก็ยุติลง แต่หากบุคคลยังไม่พอใจแสดงว่ายังมีปัญหาอยู่ บุคคลก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาทางเลือกใหม่อีกครั้ง และกระบวนการนี้ยุติลงเมื่อบุคคลพอใจและมีความสุขความเชื่อพื้นฐานของปรัชญา คิดเป็น


1. คนมีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ความต้องการของคนก็ไม่เหมือนกัน
2. แต่ทุกคนต้องการความสุข
3. ความสุขของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน
4. ความสุขของแต่ละคนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ มนุษย์ กับสภาวะแวดล้อมที่เป็นวิถีชีวิตของตน  สามารถปรับเข้าหากันอย่างผสมกลมกลืนจนเกิดความพอดี และพอใจ
5. แต่สภาวะแวดล้อมในสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดปัญหา ก่อให้เกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจ ไม่สบายกายเกิดขึ้นได้เสมอ
6. คนคิดเป็นเชื่อว่า ทุกข์ หรือปัญหาเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นได้ สามารถแก้ไขได้  ถ้ารู้จักแสวงหาข้อมูลหลายๆ ด้าน รู้จักวิเคราะห์ข้อมูล รู้จักใช้ข้อมูลในการตัดสินใจอย่างน้อย 3 ประการ คือข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมทางสังคมในวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรม ประเพณี และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ซึ่งครอบคลุมถึงการพึ่งพาตนเอง และความพอเพียงด้วย
7. เมื่อได้พัฒนาทักษะการตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล และไตร่ตรองข้อมูลอย่างรอบคอบ ทั้ง 3 ด้าน จนมีความพอใจแล้ว ก็พร้อมจะรับผิดชอบการตัดสินใจนั้นอย่างสมเหตุสมผล เกิดความพอดี ความสมดุลระหว่างชีวิต กับธรรมชาติอย่างสันติสุข
8. อย่างไรก็ตามสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ เป็นสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่รวดเร็วและรุนแรง ปัญหาก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกข์ก็เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป เปลี่ยนโฉมหน้าไปตามกาลสมัย กระบวนทัศน์ในการดับทุกข์ก็ต้องพัฒนารูปแบบ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น อยู่ตลอดเวลา ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย
9. กระบวนการตอบทุกข์หรือ การแก้ปัญหาจึงหมุนเวียนมาจนกว่าจะพอใจอีกเป็นเช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การสอนแบบคิดเป็นจึงไม่มีการสอนแบบสำเร็จรูป ว่าอะไรถูก อะไรผิด ขึ้นอยู่กับบริบทและสิ่งแวดล้อมแต่ละคนจะมีบริบทไม่เหมือนกัน แต่เมื่อนำมาถกเถียงกัน นำมาอภิปราย ถกเถียงกันจะเกิดความรู้แตกฉานยิ่งขึ้น
กระบวนการแก้ปัญหาของการคิดเป็น
1. ขั้นสำรวจปัญหา เมื่อเกิดปัญหา ย่อมต้องเกิดกระบวนการคิดแก้ปัญหา
2. ขั้นหาสาเหตุของปัญหา เป็นการหาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรเป็นองค์ประกอบของปัญหาบ้าง
- สาเหตุจากตนเอง พื้นฐานของชีวิต ครอบครัว อาชีพการปฏิบัติตน คุณธรรม ฯลฯ
- สาเหตุจากสังคม บุคคลที่อยู่แวดล้อม ตลอดจนความเชื่อ ประเพณี ฯลฯ
- สาเหตุจากการขาดวิชาการความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
3. ขั้นวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ไขปัญหา เป็นการวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา  โดยใช้ข้อมูลด้านตนเอง สังคม วิชาการ มาประกอบในการวิเคราะห์
4. ขั้นตัดสินใจ เมื่อได้ทางเลือกแล้วจึงตัดสินใจเลือกแก้ปัญหาในทางที่มีข้อมูลต่าง ๆ พร้อม
5. ขั้นตัดสินใจไปสู่การปฏิบัติ เมื่อตัดสินใจเลือกทางใดแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในข้อมูลเท่าที่มีขณะนั้น ในกาละนั้น และในเทศะนั้น
6. ขั้นปฏิบัติในการแก้ปัญหา ในขั้นนี้เป็นการประเมินผลพร้อมกันไปด้วย ถ้าผลที่
- พอใจ ก็ถือว่าพบความสุข เรียกว่า คิดเป็น
- ไม่พอใจ หรือผลออกมาไม่ได้เป็นไปตามที่คิดไว้ หรือข้อมูลเปลี่ยนต้องเริ่มต้นกระบวนการคิดแก้ปัญหาใหม่

ลักษณะของคนคิดเป็น  8  ประการ
1. เชื่อในความแตกต่างหลากหลายของคน
2. เชื่อในลักษณะการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคมที่มีเกิด ดำรงอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา
3. เชื่อมั่นในความพอเพียง พอประมาณ พอดี และรู้จักพึ่งพาตนเอง
4. เชื่อในหลักของอริยสัจ 4
5. เชื่อว่าทุกข์หรือปัญหาใด ๆ ย่อมมีอยู่ในธรรมชาติเป็นของธรรมดา และสามารถแก้ไขได้เสมอ
6. เชื่อมั่นว่าข้อมูลทั้งหลายเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาการตัดสินใจแก้ปัญหาที่ดีต้องรู้จักใช้ รู้จักวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายเพียงพอ และครอบคลุมข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเองคือรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิชาการที่จะเป็นบ่อเกิดของปัญหา และข้อมูลที่เกี่ยวกับสังคมสิ่งแวดล้อม ธรรมเนียมประเพณี
7. เผชิญกับปัญหาอย่างรู้เท่าทัน มีสติ ไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบ เมื่อตัดสินใจแล้วมีความพอใจและเต็มใจรับผิดชอบกับผลการตัดสินใจเช่นนั้นจนกว่า จะมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม หรือมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป
8. เชื่อมั่นและมั่นใจในการเรียนรู้ตลอดชีวิต กระบวนการเรียนรู้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตามปรัชญา คิดเป็นนี้ ผู้เรียนถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้สอนจะเป็นผู้จัดโอกาส จัดกระบวนการ จัดระบบข้อมูลและแหล่งเรียนรู้รวมทั้งจัดบรรยากาศที่เหมาะสมในการเรียนรู้ขึ้น กิจกรรมในการเรียนรู้อาจมีแนวทางดังนี้
1. กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์จากปัญหาและความต้องการของตนเองและชุมชน
2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ
3. ผู้เรียนเรียนรู้จากการอภิปราย ถกเถียงในประเด็นที่เป็นปัญหา
4. ผู้เรียนเรียนรู้จากกระบวนการกลุ่ม มีการใช้ข้อมูลหลาย ๆ ด้าน
5. ผู้เรียนเรียนรู้จากวิถีชีวิต วิถีการทำงาน วิถีชุมชน และภูมิปัญญา
6. ผู้เรียนเรียนรู้จากการทำโครงงาน การเข้าค่าย การศึกษาดูงาน
7. ผู้เรียนเรียนรู้จากการศึกษาวิจัย ศึกษากรณีตัวอย่างที่หลากหลาย
8. ผู้เรียนได้ฝึกการตัดสินใจด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ลึกซึ้งเพียงพอและเชื่อถือได้
9. ผู้เรียนรู้จักการใช้เทคนิคกระบวนการต่าง ๆ เช่น การนำเวทีชาวบ้านมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาปัญหาและคิดแก้ปัญหาของตนเองและชุมชน
10. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้จักการตัดสินใจในการแก้ปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูลที่เพียงพอ ทั้งข้อมูลตนเอง วิชาการ และสังคมสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การปฏิบัติได้
ความสำคัญของการคิด
การคิดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่สำคัญที่สุดจะมีผลและรากฐานของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตแต่ละบุคคลในการดำเนินงานของสังคม ถ้าคนแต่ละคนคิดดี คิดถูกต้อง คิดเหมาะสม การดำเนินชีวิตของคนและความเป็นไปของสังคมก็จะดำเนินไปอย่างมีคุณค่าสูง การคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ การคิดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมที่ซับซ้อน สังคมจะก้าวหน้าต่อไปได้ก็เมื่อบุคคลในสังคมมีความคิด รู้จักคิดป้องกันหรือคิดแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันและพัฒนาปรับปรุงภาวะต่างๆ ให้ดีขึ้นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเด็กจึงต้องช่วยพัฒนาความสามารถในการคิดให้แก่เด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นคนที่มีความคิดกว้างไกล สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่น คนต้องคิดเป็น คนที่ไม่ชอบคิดหรือคิดไม่เป็นย่อมตกเป็นเหยื่อของคนช่างคิดคนต้องงอาศัยความคิดเป็นสิ่งนำไปสู่การดำเนินชีวิต การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล การคิดเป็นกระบวนการทางจิตใจมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ แม้ว่าทุกคนจะมีความคิดแต่ก็มองไม่เห็นได้โดยตรง ต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรม การแสดงออกและการกระทำ
กระบวนการของการคิด
การคิดเป็นกระบวนการของจิตใจหรือกระบวนการทางสมอง ซึ่งมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ การคิดไม่มีขอบเขตจำกัด กระบวนการคิดของมนุษย์เป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนที่เริ่มจากสิ่งเร้ามากระตุ้นทำให้จิตใส่ใจกับสิ่งเร้าและสมองนำข้อมูลหรือความรู้ที่มีอยู่มาประมวล เพื่อให้ได้ผลของการคิดออกมาเหตุของการคิด ต้นเหตุของการคิดคือสิ่งเร้าที่เป็นปัญหา หรือสิ่งเร้าที่เป็นความต้องการหรือสิ่งเร้าที่ชวนสงสัย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1) สิ่งเร้าที่เป็นปัญหา เป็นสิ่งเร้าประเภทสถานการณ์ เหตุการณ์ หรือสภาวะที่มากระทบแล้ว  จำเป็นต้องคิด ( Have to think) เพื่อกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะทำให้ปัญหานั้นลดไปหรือหมดไป
2) สิ่งเร้าที่เป็นความต้องการ เป็นความต้องการสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมในแง่ต่าง ๆ เช่น ต้องการลดต้นทุนในการผลิตสินค้า ต้องการทำงานโดยใช้เวลาน้อยลง ต้องการความปลอดภัยมากขึ้น  จึงต้องการการคิด (Want to think ) มาเพื่อทำให้ความต้องการหมดไป
3) สิ่งเร้าที่ชวนสงสัย เป็นสิ่งเร้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่มากระตุ้นให้สงสัย อยากรู้ ซึ่งในสภาพการณ์เดียวกัน สิ่งเร้าเดียวกัน บางคนอาจไม่อยากรู้ก็ไม่เกิดการคิด แต่บางคนก็อยากรู้ซึ่งอาจเกิดจากบุคลิกภาพประจำตัวที่เป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย ทำให้ต้องการคำตอบเพื่อตอบข้อสงสัย นั้น ๆ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ควรได้รับการฝึกฝนและพัฒนาต่อ ๆ ไป
ผลของการคิด คือคำตอบหรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปแก้ปัญหาที่พบ หรือเพื่อให้ความต้องการ หรือความสงสัยลดลงหรือหมดไป ผลของการคิดได้แก่
1) คำตอบของปัญหาที่พบ หรือคำตอบที่สนองต่อความต้องการของตน ซึ่งรวมไปถึงวิธีการในการแก้ปัญหา ขั้นตอนในการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้คำตอบนั้น ๆ
2) แนวคิด ความรู้ ทางเลือก และสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ ๆ
กระบวนการคิดที่กระทรวงศึกษาต้องการ
ความสามารถในการคิดที่กระทรวงศึกษาต้องการ คือ คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดอย่างเป็นระบบ
1. การคิดอย่างเป็นระบบ ควรมาก่อน เนื่องจากเป็นกระบวนการคิดทั้งหมด ตัวบ่งชี้การคิดอย่างเป็นระบบ คือ คิดอย่างมีจุดหมาย คิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน คิดด้วยเหตุผล คิดให้เกิดประโยชน์ที่นักการศึกษา (ศรัทธา) ยึดมั่น คือ กระบวนการวิทยาศาสตร์ อาจใช้กับการคิดกับสิ่งที่สัมผัสได้ดีแต่บั่นทอน จินตนาการและสร้างสรรค์)
2. การคิดวิเคราะห์ คือ การนำส่วนรวมมาแยกแยะดู องค์ประกอบแต่ละส่วนลักษณะและคุณสมบัติขององค์ประกอบ การทำหน้าที่และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่มีต่อองค์รวม
3. การคิดสังเคราะห์ คือ การนำองค์สิ่งที่มีความแตกต่างกันมาประกอบให้เป็นสิ่งใหม่ (ที่จริงแล้วเป็นความคิดสร้างสรรค์อยู่ด้วย ถ้ามุ่งที่ให้เกิดประโยชน์)

4. การคิดพิจารณา (วิจาร, พิจาร = การตรอง = การเอาจิตเจ้าไปจับแล้วดูลักษณะ องค์ประกอบ คุณสมบัติ การเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง ฯลฯ) น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอนของการคิดอย่างเป็นระบบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น