วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความหมาย ความสำคัญของแหล่งเรียนรู้

ความหมายของแหล่งเรียนรู้
            แหล่งเรียนรู้ หมายถึง ถิ่นที่อยู่ บริเวณ ศูนย์รวม บ่อเกิด แห่ง หรือที่ ที่มีสาระเนื้อหาเป็นข้อมูลความรู้หรือเรียกว่า องค์ความรู้ที่ปรากฏอยู่รอบตัวของมนุษย์ เพื่อได้รับข้อมูลความรู้จากประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้ง หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจแล้ว จะเกิดความรู้ ความเข้าใจ และรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้
ความสำคัญและประโยชน์ของแหล่งเรียนรู้
            แหล่งเรียนรู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ ในยุคความรู้ของมนุษย์เกิดขึ้นใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนี้
            1. เป็นแหล่งที่มีสาระเนื้อหาที่เป็นข้อมูลความรู้ ให้มนุษย์เกิดโลกทัศน์ที่กว้างไกลกว่าเดิมช่วยให้เกิดความสนใจในเรื่องสำคัญ ช่วยยกระดับความทะเยอทะยานของผู้ศึกษา จากการนำเสนอสาระความรู้ หรือภาพในอุดมคติ หรือเสนอผลสำเร็จและความก้าวหน้าของงาน หรือชิ้นงาน หรือเทคโนโลยี หรือบุคคลต่างๆของแหล่งเรียนรู้
            2. เป็นสื่อการเรียนรู้ การเรียนรู้สมัยใหม่ที่ให้ทั้งสาระ ความรู้ ก่อให้เกิดทักษะและช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้นมากยิ่งขึ้น


            3. เป็นแหล่งช่วยเสริมการเรียนรู้ของการศึกษาประเภทต่างๆ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
            4. เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มนุษย์สามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์ในการหาความรู้ต่างๆ ได้ด้วยตนเองตลอดเวลา โดยไม่จำกัด เพศ วัย ระดับความรู้ความสามารถ
            5. เป็นแหล่งที่มนุษย์สามารถเข้าไปปฏิสัมพันธ์ในการหาความรู้ จากแหล่งกำเนิด หรือแหล่งต้นตอของความรู้ เช่น จากโบราณสถาน โบราณวัตถุ พันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสัตว์เป็นต้น
            6. เป็นแหล่งที่มนุษย์สามารถเข้าไปปฏิสัมพันธ์ให้เกิดประสบการณ์ตรง หรือลงมือปฏิบัติได้จริง เช่น การประดิษฐ์เครื่องใช้ต่างๆ การซ่อมแซมเครื่องยนต์ เป็นต้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจความใฝ่รู้
            7. เป็นแหล่งที่มนุษย์สามารถเข้าไปปฏิสัมพันธ์ให้เกิดความรู้ เกี่ยวกับวิทยาการใหม่ๆที่ได้รับการคิดค้นขึ้น และยังไม่มีของจริงให้เห็น เช่น การดูภาพยนตร์ วีดิทัศน์ หรือสื่ออื่นๆ ในเรื่องการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆขึ้นมาใหม่
            8. เป็นแหล่งส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี ระหว่างคนในท้องถิ่นกับผู้เข้าศึกษาในการทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยสร้างความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วม เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของแหล่งเรียนรู้
            9. เป็นสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยมให้เกิดการยอมรับสิ่งใหม่ แนวคิดใหม่ เกิดจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์กับผู้เรียน
10. เป็นการประหยัดเงินของผู้เรียนในการใช้แหล่งเรียนรู้ของชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ประเภทของแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัว  แหล่งเรียนรู้ในชุมชนมีการแบ่งแยกตามลักษณะได้  6 ประเภท ดังนี้
            1. แหล่งเรียนรู้ประเภทบุคคล ได้แก่ บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถด้านต่างๆที่สามารถถ่ายทอดความรู้ ด้วยรูปแบบวิธีต่างๆที่ตนมีอยู่ ให้ผู้สนใจ หรือผู้ต้องการเรียนรู้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ ผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์มามาก หรืออาจเป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการ มีบทบาทสถานะทางสังคม หรืออาจเป็นบุคคลที่เป็นโดยการงานอาชีพ หรือบุคคลที่เป็นโดยความสามารถเฉพาะตัวหรือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นภูมิปัญญา
            2. แหล่งเรียนรู้ประเภทธรรมชาติ ได้แก่ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่น ดิน น้ำ อากาศ พืช สัตว์ ต้นไม้ แร่ธาตุ ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ อาจถูกจัดให้เป็นอุทยาน วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สวนพฤกษศาสตร์ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ เป็นต้น
            3. แหล่งเรียนรู้ประเภทวัสดุและสถานที่ ได้แก่ อาคาร สิ่งก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งต่างๆ ที่ประชาชนสามารถศึกษาหาความรู้ให้ได้มาซึ่งคำตอบ หรือสิ่งที่ต้องการเห็น ได้ยิน สัมผัส เช่น ห้องสมุด ศาสนสถาน ศูนย์การเรียน พิพิธภัณฑ์ สถานประกอบการ ตลาด นิทรรศการ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ต่างๆ
            4. แหล่งเรียนรู้ประเภทสื่อ ได้แก่ สิ่งที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาความรู้สารสนเทศ ให้ถึงกัน โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ แหล่งเรียนรู้ประเภทนี้ ทำให้ขบวนการเรียนรู้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง ทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศนวัสดุ
            5. แหล่งเรียนรู้ประเภทเทคนิค สิ่งประดิษฐ์คิดค้น ได้แก่ สิ่งที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรม เทคโนโลยีด้านต่างๆที่ได้มีการประดิษฐ์คิดค้น หรือพัฒนาปรับปรุงขึ้นมา ให้มนุษย์ได้เรียนรู้ถึงความก้าวหน้า เกิดจินตนาการ แรงบันดาลใจ
            6. แหล่งเรียนรู้ประเภทกิจกรรม ได้แก่ การปฏิบัติการด้านประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนการปฏิบัติการ ความเคลื่อนไหว เพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงพัฒนาสภาพต่างๆในท้องถิ่น การที่มนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การรณรงค์ป้องกันยาเสพติด การส่งเสริมการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
การรณรงค์ความปลอดภัยของเด็กและสตรีในท้องถิ่น ประเภทของแหล่งเรียนรู้แบ่งตามสาระลักษณะกายภาพและวัตถุประสงค์ แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
            1. กลุ่มบริการข้อมูล ได้แก่ ห้องสมุด อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์การเรียนสถานประกอบการ
            2. กลุ่มงานศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ อุทยานประวัติศาสตร์ อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ศูนย์วัฒนธรรม หอศิลป์ ศาสนสถาน เป็นต้น
            3. กลุ่มข้อมูลท้องถิ่น ได้แก่ ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน สื่อพื้นบ้าน แหล่งท่องเที่ยว
            4. กลุ่มสื่อ ได้แก่ วิทยุ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว โทรทัศน์ เคเบิลทีวี สื่ออิเล็กทรอนิกส์อินเทอร์เน็ต หนังสืออิเล็กทรอนิกส์(e-book) กลุ่มสันทนาการ ได้แก่ ศูนย์กีฬา สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ ศูนย์สันทนาการ เป็นต้น
การศึกษาสำรวจแหล่งเรียนรู้ในชุมชน/ใกล้ตัว
1. ภูมิปัญญา 
            การจัดแบ่งประเภท สาขาของภูมิปัญญาไทย จากการศึกษา พบว่า ได้มีการกำหนดสาขาของภูมิปัญญาไทยไว้อย่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ต่างๆ  ซึ่งนักวิชาการแต่ละท่านได้กำหนดไว้ในหนังสือสารานุกรมไทย โดยได้แบ่งภูมิปัญญาไทย ได้เป็น 10 สาขา ดังนี้
          1.1 สาขาเกษตรกรรม  หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี บนพื้นฐานคุณค่าดังเดิม ซึ่งความสามารถพึ่งพาตนเองในภาวการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ ไร่นาสวนผสม และสวนผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรด้านการตลาด การแก้ปัญหาด้านการผลิต การแก้ไขปัญหาโรคและแมลงและการรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตร เป็นต้น
          1.2 สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม  หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลิตผล เพื่อชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัดและเป็นธรรม อันเป็นขบวนการที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ ตลอดทั้งการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลทางหัตถกรรม เช่น การรวมกลุ่มของกลุ่มโรงงานยางพารา กลุ่มโรงสี กลุ่มหัตถกรรม เป็นต้น
            1.3 สาขาการแพทย์แผนไทย  หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้ เช่น การนวดแผนโบราณ การดูแลและรักษาสุขภาพแบบพื้นฐาน การดูแลและรักษาสุขภาพแผนโบราณไทย เป็นต้น
            1.4 สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น การทำแนวปะการังเทียม การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการป่าต้นน้ำและป่าชุมชน เป็นต้น
            1.5 สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสะสมและบริการกองทุน และธุรกิจในชุมชนทั้งที่เป็นเงินตราและโภคทรัพย์ เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน เช่น การจัดการเรื่องกองทุนของชุมชนในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์และธนาคารหมู่บ้าน เป็นต้น
          1.6 สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของชุมชน การจัดระบบสวัสดิการบริการในชุมชน การจัดระบบสิ่งแวดล้อมในชุมชน
          1.7 สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ ศิลปะมวยไทย เป็นต้น
            1.8 สาขาการจัดการองค์กร หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการ ดำเนินงานขององค์กรต่างๆ ให้สามารถพัฒนาและบริหารองค์กรของตนเองได้ตามบทบาทและหน้าที่ขององค์กร เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น
          1.9 สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถด้านภาษา ทั้งภาษาถิ่น ภาษาโบราณ ภาษาไทย และการใช้ภาษาตลอดทั้งด้านวรรณกรรมทุกประเภท เช่น การจัดทำสารานุกรม ภาษาถิ่น การปริวรรตหนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่นของท้องถิ่นต่างๆเป็นต้น
          1.10 สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึง ความสามารถประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา ความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่า ให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติ
วิธีการศึกษาเรียนรู้จากภูมิปัญญา
            1. เรียนรู้จากการเล่าเรื่องราว การเทศน์
            2. เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง
            3. เรียนรู้จากการทำตาม เลียนแบบ
            4. เรียนรู้จากการทดลอง ลองผิด ลองถูก
            5. เรียนรู้จากการศึกษาด้วยตนเอง
            6. เรียนรู้จากการต่อวิชา
            7. เรียนรู้จากการสอนแบบกลุ่ม
วิธีการถ่ายทอดความรู้ของภูมิปัญญา อาจมีลักษณะแตกต่างกันตามเอกลักษณ์เฉพาะ
            ตัวการศึกษาเรียนรู้จากครูภูมิปัญญา จะช่วยทำให้ภูมิปัญญาความรู้หรือคุณค่าของท้องถิ่นได้รับการสืบทอดและพัฒนาต่อไป ส่วนผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนก็จะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ดีงามในท้องถิ่นของตน ด้วยความรัก ความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน ภูมิปัญญาไทยจึงถือเป็นแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ที่สำคัญของท้องถิ่น
2. ศูนย์การเรียนชุมชน
            ศูนย์การเรียนชุมชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญแห่งหนึ่ง ที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้ดำเนินการจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ระดับตำบลทั่วประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวนักศึกษา เพื่อให้เป็นแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชุมชน มุ่งสร้างโอกาสและให้บริการการเรียนรู้อย่างหลากหลาย วิธีสนองความต้องการและเสนอทางเลือกในการพัฒนาตนเอง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยยึดหลักการชุมชนเป็นฐานของการพัฒนาศูนย์การเรียนชุมชน อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
          1. ศูนย์การเรียนชุมชน ได้แก่ สถานที่ถ่ายทอดความรู้ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชน เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ การถ่ายทอดและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิทยาการ ตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชน
          2. ศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบล ได้แก่ ศูนย์การเรียนชุมชนประจำตำบลที่ได้รับคัดเลือกให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานกับศูนย์การเรียนชุมชนและหน่วยงาน หรือองค์กร หรือกลุ่มต่างๆในชุมชน ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในตำบลอีกหน้าที่หนึ่งนอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ของศูนย์การเรียนชุมชน
วัตถุประสงค์ของศูนย์การเรียนชุมชน
            1. เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม
อัธยาศัย เพื่อให้ประชาชนได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
            2. เพื่อสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน
            3. เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้สำหรับประชาชนในชุมชน
            4. เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และจัดการศึกษาให้กับชุมชนเอง

3. ห้องสมุดประชาชน
            ห้องสมุดประชาชน หมายถึง สถานที่จัดหา รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อการอ่านการศึกษาค้นคว้าทุกชนิด มีการจัดระบบหมวดหมู่ตามหลักสากลเพื่อการบริการ และจัดบริการอย่างกว้างขวางแก่ประชาชนในชุมชน สังคม ในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่จำกัดเพศ วัย ความรู้ เชื้อชาติ ศาสนา รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การศึกษาค้นคว้าโดยไม่คิดมูลค่า โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน และมีบุคลากรที่มีความรู้ทางบรรณารักษ์ศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการ
4. พิพิธภัณฑ์ ศาสนสถานและอุทยานแห่งชาติ
            พิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวม รักษา ค้นคว้า วิจัย และจัดแสดงวัตถุสิ่งของที่สัมพันธ์กับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เป็นบริการการศึกษาที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ประชาชนทั่วไป เน้นการจัดกิจกรรมการศึกษาที่เอื้อให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระเป็นสำคัญศาสนสถาน วัด โบสถ์ มัสยิด เป็นศาสนสถานที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมในด้านต่างๆ เป็นศูนย์กลางและส่วนประกอบที่สำคัญในการทำกิจกรรมที่หลากหลายของชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีค่ามากในทุกด้าน เช่น การให้การอบรมตามคำสั่งสอนของศาสนา การให้การศึกษาด้านวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมต่างๆ นับว่าเป็นการให้การศึกษาทางอ้อมแก่ประชาชน วัด โบสถ์และมัสยิด ที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญด้วยการนวดแผนโบราณเพื่อรักษาโรคตำรายาสมุนไพร วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์
5. ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ
            คอมพิวเตอร์ (Computer) หมายถึง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่งที่สามารถรับโปรแกรมและข้อมูล ประมวลผล สื่อสารเคลื่อนย้ายข้อมูลและแสดงผลลัพธ์ได้
            เทคโนโลยี (technology) หมายถึง การนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์หรือความรู้ด้านอื่น ๆมาประยุกต์ใช้งานด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้งานนั้นมีความสามารถและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

            สารสนเทศ (Information) หมายถึง ข้อมูลที่ผ่านกระบวนการเก็บรวบรวม และเรียบเรียงที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้

3 ความคิดเห็น:

  1. การนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของตนเองครอบครัวชุมชน

    ตอบลบ
  2. ได้เงินเท่าไรแล้ว เขียนบทความ ใน blogger อะ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณครับได้ทำใบงานกศน.ส่งครูเรื่องความหมายกับประเภทแหล่งเรียนรู้6ข้อ

    ตอบลบ